เจ้าพ่อหมอกมุงเมือง ผีเจ้านายในหออะม็อก

เจ้าพ่อหมอกมุงเมือง ผีเจ้านายในหออะม็อก

 

หออะม็อก หรือหอปืนโบราณ เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองนครลำปางรุ่นที่ 3 ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2351 ในสมัยพระเจ้าสุวรรณหอคำดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 3 แห่งทิพย์จักรวงศ์สัตตราชา ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี พระเจ้าสุวรรณหอคำดวงทิพย์ได้สร้างหออะม็อกขึ้นเพื่อเป็นสถานที่เก็บปืนใหญ่และกระสุนสำหรับต่อสู้กับข้าศึกศัตรูที่มารุกราน และใช้เป็นหอสังเกตการณ์ตรวจตราความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในขณะนั้น

 

 

หออะม็อกอยู่ในเขตพื้นที่บ้านศรีเกิด ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง ปัจจุบันได้รับการบูรณะแล้ว

 

หออะม็อก ภาพถ่ายเมื่อราว พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

หออะม็อกมีลักษณะเป็นหอ 8 เหลี่ยมรูปเกือกม้า ก่อด้วยอิฐสอดินดิบ มีฐานกว้างประมาณ 8 เมตร มีทางเข้าออกด้านทิศตะวันตกเพียงด้านเดียว ภายในมีเนื้อที่ 10 ตารางวา แบ่งได้เป็น 3 ชั้น มีความสูงถึงยอดด้านบนกว่า 10 เมตร ปัจจุบันหออะม็อกอยู่ในเขตพื้นที่บ้านศรีเกิด ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ไม่ไกลจากวัดศรีเกิดและประตูศรีเกิด หนึ่งในประตูเมืองลำปางร่วมสมัย อย่างไรก็ดีจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ส่งผลให้โครงสร้างของหออะม็อกได้รับความเสียหาย แต่กรมศิลปากรได้บูรณะซ่อมเสริมจนอยู่ในสภาพดีแล้ว หออะม็อกได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478 และประกาศกำหนดเขตที่ดินรอบโบราณสถานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2524

 

สภาพปัจจุบันของหออะม็อก 

 

หออะม็อก ภาพถ่ายเมื่อราว พ.ศ. 2521 จะเห็นว่าเดิมมีศาลเจ้าพ่อหมอกมุงเมืองตั้งอยู่ภายใน (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

หออะม็อกไม่เพียงมีความสำคัญเพราะเป็นหอปืนแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่เท่านั้น แต่ชาวเมืองลำปางแต่อดีตล้วนมีความผูกพันและมีความเชื่อว่าหออะม็อกเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณ หมื่นพันทอง หรือหมื่นพันตอง นักรบผู้เป็นนายทหารเอกคนสำคัญของเจ้าเมืองนครลำปาง ชาวบ้านเชื่อว่าหมื่นพันทองเคยบวชเรียนที่เมืองเชียงตุง และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจนเป็นผู้มีวิชาอาคมเก่งกล้า ความสามารถพิเศษประการหนึ่ง คือ ไม่ว่าหมื่นพันทองจะเดินไปทิศทางไหนก็มักปรากฏหมอกปกคลุมไปทั่วเสมอ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์สำหรับผู้พบเห็นและเป็นที่มาของชื่อ นายขนานหมอกมุงเมือง

 

ศาลเจ้าพ่อหมอกมุงเมืองภายในหออะม็อก ภาพถ่ายเมื่อราว พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ภายในหออะม็อก ปัจจุบันทำประตูไม้ปิดไว้  

 

ดร. เพ็ญสุภา สุขคตะ กล่าวในบทความเรื่อง “ปริศนาโบราณคดี : ใครคือเจ้าดวงดอกไม้ในบทเพลงของจรัล มโนเพ็ชร?” เผยแพร่ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 มีนาคม 2564 สรุปได้ว่า ชื่อของหมื่นพันตองนั้นปรากฏในพงศาวดารหลายฉบับ โดยเป็นเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2364 คราวเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงทรงส่งธิดาชื่อศรีสุวรรณเกี๋ยงคำ หรือสุวรรณเกี๋ยงคำ ให้มาเป็นอัครชายาของเจ้าหลวงสุวรรณหอคำดวงทิพย์ โดยมีหมื่นพันตองเป็นองครักษ์คอยอารักขาคุมขบวนล้อเกวียนจากเชียงตุงมายังนครลำปาง ด้วยความมีอิทธิฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ เจ้าหลวงสุวรรณหอคำดวงทิพย์จึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพเอกชื่อแสนโกฏิเมฆ ผู้เป็นต้นสกุลไชยนิลพันธุ์ ชาวบ้านเล่าลือต่อกันมาอีกว่าหมื่นพันทองเป็นทหารกล้า ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งจนตัวตาย เมื่อเสียชีวิตลงแล้ว ชาวบ้านที่นับถือได้พากันตั้งศาลสักการะไว้ภายในบริเวณหออะม็อก พร้อมขนานนามว่า เจ้าพ่อหมอกมุงเมือง หรือเจ้าพ่อหออะม็อก มีการจัดพิธีเลี้ยงและฟ้อนผีถวายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี โดยในงานจะไม่นำเหล้าและบุหรี่มาเป็นเครื่องเซ่นบูชา เชื่อว่าท่านไม่ชอบ

 

ศาลเจ้าพ่อหมอกมุงเมืองหลังปัจจุบันตั้งอยู่ทางด้านหลังหออะม็อก

 

กัมปนาท ขำแก้ว (2559) กล่าวในบทความเรื่อง “ผี ปฐมบทแห่งความน่าสะพรึงกลัว พัฒนาการของผีไทย : ผีบุพกาล สู่ ผีพาณิชย์” ไว้ช่วงหนึ่งว่า “ในเมืองเชียงใหม่ถือว่าเจ้าหลวงคำแดงเป็นประธานของผีเจ้านายทั้งหลาย ในเมืองลำปางถือว่าเจ้าพ่อหออะม็อกเป็นประธานของผีเจ้านายในเมืองลำปาง” กัมปนาทกล่าวในบทความเดียวกันว่า ผีเจ้านายก็คือผีที่มาประทับทรงเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชาวบ้าน โดยผีเจ้านายจะต้องเคยเป็นนักรบ หรือวีรบุรุษคนสำคัญเมื่อยังมีชีวิต 

 

รูปเคารพเจ้าพ่อหมอกมุงเมืองที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาล

 

เอกสิทธิ์ ไชยปิน (2546) ระบุถึงความเชื่อเรื่องผีเจ้านายในวิทยานิพนธ์เรื่อง “พลวัตลัทธิพิธีกรรมการลงผี : กรณีศึกษาปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างม้าขี่ ลูกเลี้ยง และผีเจ้านายในจังหวัดเชียงใหม่” ไว้ตอนหนึ่งว่า “ผีเจ้านาย อาจมีความหมายขอบเขตกว้างขวาง จัดอยู่ในจำพวกประเภทผีอารักษ์ ได้แก่ ผีปู่ย่า ผีเสื้อบ้านเสื้อเมือง ผีผู้ปกครองนคร ผีกษัตริย์ในอาณาจักรโบราณ ผีธรรมชาติ ตลอดจนกระทั่งสัตว์บางประเภทก็ถูกจัดให้เป็นผีเจ้านายได้เช่นเดียวกัน เช่น เจ้าปู่จ้างฮ้อง เจ้าพ่อพญาเสือโคร่ง...” โดยความเชื่อเรื่องผีเจ้านายนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

 

ตุ๊กตารูปช้างและม้าที่ผู้ศรัทธานำมาถวายเจ้าพ่อหมอกมุงเมือง 

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม (2527) ให้ข้อสรุปใน “การถือผีในเมืองไทย” บทความตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 ว่า “ทัศนะของคนไทยแต่อดีตถึงปัจจุบันเชื่อว่าในโลกนี้ไม่ได้มีแต่คน สัตว์ และพรรณไม้เท่านั้น แต่ยังมีภูตผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกมากมายหลายอย่าง ซึ่งหากได้รับการปฏิบัติตามที่เหมาะที่ควรแล้ว ก็จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างอยู่เย็นเป็นสุขเพราะสิ่งเหล่านี้สามารถดลบันดาลความเจ็บป่วย โชคร้าย ภัยพิบัติต่างๆ หรือความสำเร็จให้แก่คนเราได้

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ